วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2553

การพูดเเนะนำตัว


การพูดแนะนำตัวเอง
กราบเรียนอาจารย์ที่เคารพและสวัสดีเพื่อนๆร่วมชั้นทุกคนนะคะ ดิฉันชื่อนางสาวพินทุ์สุดา มนิราชนะคะ ขณะนี้ศึกษาอยู่ชั้นปีที่สอง คณะการสื่อสารมวลชน เอกหนังสือพิมพ์ บ้านของดิฉันอยู่ที่ จ.กาญจนบุรีค่ะ แต่ว่าก็เลือกมาเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพราะว่ามันไกลบ้านดี ดิฉันคิดว่าการอยู่ไกลบ้านบ้างจะทำให้เราช่วยเหลือตัวเองได้ และทำให้เราโตขึ้นด้วยค่ะ ส่วนวันนี้นะคะดิฉันก็จะมาพูดเรื่องใกล้ๆตัวนี่แหละคะ ดิฉันจะขอประชาสัมพันธ์งานขยับปีกนะคะ ขยับปีกเป็นละครเวทีของคณะการสื่อสารมวลชน ซึ่งเราจะเริ่มจัดการแสดงในวันที่ 8-10 ธันวาคมนี้นะคะ เพื่อนๆคนไหนสนใจก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือว่าติดต่อซื้อบัตรได้ที่นักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชนทุกคนเลยนะคะ หรือว่าเพื่อนๆอาจจะดูรายละเอียดได้จากป้าย cut-out ที่อยู่ตามสถานที่ต่างๆภายในมหาวิทยาลัยก็ได้ค่ะ ขอบคุณค่ะ



การพูดต่อหน้าที่ชุมชนมักจะเป็นสถานการณ์ที่สร้างความลำบากใจให้กับผู้พูดเสมอๆ ไม่เว้นแม้แต่ผู้พูดที่เคยมีโอกาสหรือมีประสบการณ์บนเวทีต่อหน้าผู้คนจำนวนมากมาย เนื่องจากสาเหตุสำคัญที่มักสร้างความวิตกกังวลหรือความกลัวนั้นจะมาจากสถานการณ์ที่ย่อมแตกต่างกันไป
การพูดเป็นการแสดงออก เป็นการสื่อสารวิธีหนึ่งโดยอาศัยภาษาถ้อยคำเป็นคำสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความรู้สึก และความต้องการ ทั้งนี้เพื่อจุดมุ่งหมายอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ว่าจะเป็นให้ทราบ ให้เข้าใจ ให้ปฏิบัติตามและให้เกิดอารมณ์ความรู้สึก การพูดเป็นพฤติกรรมสำคัญของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในกระบวนการของการสื่อสาร โดยในกระบวนการดังกล่าวนั้น การพูดเป็นพฤติกรรมที่กระทำโดยใช้ถ้อยคำภาษา ซึ่งเรียกว่า วัจนภาษา(verbal language)ร่วมกับภาษาที่ไม่ใช่ถ้อยคำ แต่เป็นการแสดงออกด้วยท่าทาง สีหน้า น้ำเสียง ซึ่งเรียกว่า อวัจนภาษา(nonverbal language)ในรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย อาจใช้วิธีการสนทนาอย่างสนิทสนมหรือใช้วิธีพูดผ่านสื่อไปยังกลุ่มคนจำนวนมาก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์ต่างๆเพื่อสื่อความหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดนั้นย่อมสัมพันธ์กับปฏิกิริยาการตอบสนองของผู้ฟังที่เป็นผู้รับสารด้วย ด้วยเหตุนี้การพูดจึงเป็นกระบวนการสื่อสารแบบ 2 ทางที่ประกอบด้วย ผู้พูดหรือผู้ส่งสาร มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับผู้ฟังหรือผู้รับสาร มีถ้อยคำ กิริยาอาการ หรือสาร โดยมีช่องทางการสื่อสารอย่างใดอย่างหนึ่ง มนุษย์อาศัยการพูดเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆและเพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม การพูดถึงมีความสำคัญทั้งต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การประกอบอาชีพ และการบริหารจัดการองค์กร
ความมุ่งมั่นและความตั้งใจจริง เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญอันจะช่วยให้ผู้พูดซึ่งมุ่งหวังจะพัฒนาการพูดต่อหน้าชุมชนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากโอกาสที่เอื้ออำนวย นอกเหนือจากความมุ่งมั่นแล้ว คุณสมบัติอื่นๆที่ผู้พูดพึงมีคือทัศนคติที่ดีต่อการพูด ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในเรื่องที่จะพูด ทักษะในการสื่อสารและการรู้จัก ประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมการอย่างเหมาะสม
บทพูดก็มีส่วนช่วยในการพูดด้วยเช่นกัน ร่างบทพูดที่ดี ควรจะมีส่วนช่วยให้ผู้พูดมั่นใจว่าสามารถนำเสนอเนื้อหาได้อย่างชัดเจน ตรงประเด็น ไม่สับสนเวลานำเสนอ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจสาระทั้งหมดตามที่ผู้พูดตั้งใจแล้ว บทพูดที่ดียังมีส่วนช่วยสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ฟังอีกด้วย
มารยาทของการพูดในที่สาธารณะเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผลต่อการสร้างและทำลายความประทับใจจากผู้ฟัง ผู้พูดที่มีมารยาทดี นอกจากจะมีภาพลักษณ์เป็นที่สร้างความประทับใจในสายตาผู้อื่นแล้ว ยังเป็นการช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้พูดให้เกียรติ อีกทั้งยังเป็นการรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของหน่วยงานใน กรณีที่ผู้พูดในฐานะตัวแทนของหน่วยงานอีกด้วย หมายความถึงการเป็นผู้รู้จักความเหมาะสมในเรื่องของ ภาษาพูด ในการเลือกสรรถ้อยคำภาษาเพื่อทักทายที่ประชุม บุคลิกภาพและการแต่งกาย ปรากฏกายด้วยความแจ่มใส เป็นมิตรกับผู้ฟัง แต่งกายเหมาะสมกับวัย ภาษาท่าทางไม่มากจนเกินงาม และรักษาเวลาของผู้ฟัง
เสียงเป็นสื่อสำคัญที่ช่วยนำเสนอเนื้อหาในการพูทำให้ผู้ฟังได้ยิน ได้รับรู้เรื่องราว ความรู้สึกนึกคิดของผู้พูด นอกจากจะเสียงจะเป็นสื่อที่ช่วยส่งข้อมูลข่าวสารมายังผู้ฟังแล้ว เสียงยังมีความสำคัญในการพูดคือช่วยถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของผู้พูด แสดงเจตนาของผู้พูด สร้างความน่าสนใจและสร้างความประทับใจ ในการพูดนั้น เสียงพูที่ดีไม่ได้หมายความถึงเฉพาะแต่เสียงที่หวาน กังวานใส ไม่แหบพร่าสั่นเครือ แต่ผู้พูดที่ได้รับการยอมรับและชื่นชมว่าเสียงดีนั้นจะต้องมีความสามารถในการใช้เสียงอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ความเชื่อมั่นในตัวเอง เป็นความรู้สึกที่ดีที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการแสดงออกในทางบวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการพูดในที่ชุมชน ผู้พูดที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เชื่อมั่นในสิ่งที่ตนพูด จะสามารถนำเสนอความคิดและเนื้อหาที่เตรียมไว้อย่างลื่นไหล มีชีวิตชีวา เป็นธรรมชาติ น้ำเสียงชัดเจนไม่ตะกุกตะกัก สั่นเครือ หรืออ้อมแอ้มอยู่ในลำคอ อันที่จริงแล้ว อาการตื่นเต้นก่อนการพูดต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก หรือผู้ฟังที่ไม่คุ้นเคย หรือบรรยากาศที่เป็นทางการ นับเป็นความรู้สึกที่ดีที่จะช่วยให้ผู้พูดมีความกระตือรือร้นในท่าทางและน้ำเสียง แต่หากว่าเป็นความรู้สึกตื่นกลัวจนไม่สามารถควบคุมอาการประหม่าได้เลยก็ย่อมทำให้เสียภาพลักษณ์ ขาดความน่าเชื่อถือและไม่สามารถสื่อสารได้อย่างชัดเจน
เพื่อการเป็นนักพูดที่ประสบความสำเร็จนั้น ต้องอาศัยการผสมผสานกันระหว่างคุณสมบัติของนักภาษาที่มีทักษะในการใช้ภาษาที่ดี สื่อสารได้เข้าใจ มีศิลปะ และรสนิยม คุณสมบัติของนักจัดการที่สามารถประเมินจัดเตรียมเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอได้อย่างเหมาะสมน่าประทับใจ คุณสมบัติของนักพูดที่ดีที่รู้จักศิลปะการพูด การใช้เสียง การเคลื่อนไหว บุคลิกภาพ และการแสดงออกที่สัมพันธ์กับเนื้อหา และเหมาะสมกับผู้ฟัง มีสมาธิกับเรื่องที่จะพูดและสื่อสารอยู่กับผู้ฟังของตน โดยไม่กังวลอยู่กับเรื่องอื่นๆ
เอกสารอ้างอิง : พิมพาภรณ์ บุญประเสริฐ. ตุลาคม 2548. การพูดอย่างมั่นใจในแบบที่คุณเป็น. ภาควิชาภาษาไทยและภาษาตะวันออก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิ
โรฒ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น